วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำอะไรกันอยู่จ๊ะ


พี่ๆ น้องๆ
ไม่ได้เข้ามาทักทายกันเสียนาน แต่ก็ได้ติดต่อกับหลายคน ด้วยวิธีอื่นๆอยู่นะ
บอกข่าวคือ ต้นเดือนหน้าพี่เล็ก พี่สา และพี่น้องจะได้ไปเยี่ยมน้องในหน่วยภาคใต้ ที่นครศรีธรรมราชและสงขลา เพื่อเก็บข้อมูลงานและเรื่องอื่นๆของพี่สยาม น้องปริน ธาริณี เบียร์และยะ ไว้ได้เรื่องราวอะไรจะเก็บมาเล่าให้ฟังนะ
ใครจะฝากอะไรไปถึงเพื่อน 5 คนนี้ก็บอกมาได้จ้ะ
ส่วนคนอื่นๆ ใกล้ๆนี้คงได้ทยอยไปเยี่ยมตามพื้นที่ แล้วจะติดต่อไปก่อนนะ
อีกเรื่องคือคนที่ฝากซื้อหนังสือวิถีชุมชน เพิ่งมีเวลาแวะไปซื้อให้ วันจันทร์นี้จะส่งไปรษณีย์ไปให้นะจ๊ะ โทษทีปล่อยให้รอนานไปหน่อย
ไม่รู้ว่ามีใครนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้บ้างหรือยัง เห็นอยู่คนหนึ่งใกล้ตัว คือน้องเบญ รู้สึกจะใช้สอนให้นักศึกษาที่มหิดลทำแผนที่ในย่านศาลายาอยู่
อีกเรื่องคือ ขอบคุณอาจารย์วรรณนิภัทศ์ช่วย upload รูปมาเมื่อวันก่อน
แล้วคุยกันอีกจ้ะ
พี่น้อง มัณฑนา

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

หน้าตาของกายภาพบำบัดชุมชน




พี่ๆน้องๆ
เมื่อวานได้ทานข้าวเย็นและพูดคุย กับอาจารย์สุวิทย์ และอาจารย์พรพิมลตามประสาคนไม่ได้เจอกันนาน ไปๆมาๆก็วกมาที่งานวิจัยกายภาพบำบัดในหน่วยปฐมภูมิจนได้ พี่สุวิทย์ซึ่งเป็นผู้ร่วมคิดแผนงานวิจัยกันมาแต่ต้น แต่พักหลังติดภารกิจการเรียนมากเลยห่างๆไปบ้าง ถามข่าวว่าน้องๆที่ร่วมโครงการทำอะไรไปกันถึงไหน
ต้องรวบรวมความคิดมากทีเดียวที่จะตอบคำถามนี้ เพราะแต่ละแห่งมีลักษณะงานต่างกันมาก จนที่เราตั้งใจจะวาดหน้าตากายภาพบำบัดชุมชนให้สังคม และสปสช.ได้เห็นไม่ใช่เรื่องง่าย และที่สำคัญคือไม่ใช่รูปเดียวที่จะนำไป copy ด้วยเครื่องผลิตนักกายภาพบำบัดใดๆได้
น้องๆในหน่วยงานหลายแห่งได้ดำเนินงานในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องผู้พิการไปมาก จนอาจดูเหมือนใช้เป็นแบบอย่างได้ แต่เราก็เห็นว่าปัจจัยของสิ่งนี้เฉพาะเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่อง "เจ้านายต้องดัน" และมีนักกายภาพบำบัดมากกว่า 1 หรือ 2 คน ไม่มีทางจะเป็นได้หากมีน้องอยู่คนเดียวและต้องทำทุกอย่างทั้งในแผนก โรงพยาบาลและชุมชน นอกจากนั้นเรายังได้เห็นภาพเปลี่ยนผ่านของหน่วยงานที่เจ้านาย"เคยดัน" แต่ตอนนี้เปลี่ยนนาย และคิดว่าคงจะไม่ดันแล้ว หรืออีกที่ที่เกิดจากโครงการจ้างชั่วคราว 1 ปีของสปสช.ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการจ้างต่อแต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ดูแล้วน้องๆเหล่านี้ต้องพยายามทำงานกันอย่างยากลำบากมากทีเดียว
ส่วนที่อื่นๆที่เป็นภาพนักกายภาพบำบัดอยู่คนเดียวในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง ดูแล้วน้องไม่อาจทำงานได้ตามอุดมคติของตนเอง มีปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะระบบงานเยี่ยมบ้าน และงานบริการในโรงพยาบาล จนนั่งคิดเองก็คิดไม่ออกว่า หน่วยงานลักษณะนี้ซึ่งมีมากเหลือเกิน และจะเกิดขึ้นอีกมากในอนาคต หากโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง จ้างนักกายภาพบำบัดประจำ 1 หรือ 2 คน
เรื่องท้าทายก็คือทำอย่างไรให้หน่วยงานลักษณะนี้มีหน้าตาของนักกายภาพบำบัดที่เหมาะควร
พี่สุวิทย์ถามว่า ตอนนี้หน่วยงานแบบนี้ติดอะไรอยู่ ตอบเร็วๆตอนนั้นก็คือ น้องๆยุ่งกับงานบริการในแผนกมาก ไม่มีเวลาและทรัพยากรสำหรับลงพื้นที่ หรือเยี่ยมบ้านเลย ตามความคิดของตัวเองนี่ไม่น่าใช่ภาพของนักกายภาพบำบัดที่ทำงานกับชุมชน หากได้แต่ทำงานในแผนก
พี่สุวิทย์ถามว่า หากน้องในโรงพยาบาลชุมชน มีทรัพยากร เวลาและศักยภาพเฉพาะงานในแผนก นั่นยังไม่พออีกหรือ เพราะงานลักษณะนี้ก็สำคัญ เพื่อจะได้เป็นหน่วยกรองให้ผู้ป่วยได้รับบริการกายภาพบำบัด และไม่ต้องเดินทางไปรักษาถึงโรงพยาบาลจังหวัด
ในใจตอนนั้นเห็นแย้ง แต่ก็ยังไม่รู้จะโต้ตอบประเด็นนี้อย่างไร ช่วยกันคิดหน่อยสิคะ

มัณฑนา