วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ต้องแยกงานกายภาพบำบัดออกจากกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู


งานกายภาพบำบัดต้องแยกออกจากกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟูได้แล้ว

นานปีที่เราได้ฟังเรื่องซ้ำๆซากๆเกี่ยวกับประเด็นคับข้องของงานบริหารหน่วยกายภาพบำบัด ในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ จำได้ว่าเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อยังเป็นนักศึกษาที่ศิริราช มีประเด็นนี้ถกกันในสภากาแฟที่เหล่านักศึกษากายภาพบำบัดของมหิดลจัดขึ้นหลายครั้ง มีรุ่นพี่มาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง เราก็ตื่นเต้นไปตามประสา คิดว่าเออหนอพี่ๆเราก็ต้องต่อสู้กับประเด็นอะไรต่ออะไรที่แปลกๆเหมือนกัน เพราะไม่เคยอยู่ในระบบดังว่าหรือเผชิญปัญหาด้วยตนเอง
พอมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ห่างจากเรื่องนี้ไปบ้างบางช่วง ด้วยได้ไปทำงานด้านวิชาการ เรียนรู้องค์ความรู้ของวิชาชีพกายภาพบำบัดจนถึงระดับปริญญาเอก จนมั่นใจว่าวิชาชีพกายภาพบำบัดมีองค์ความรู้ของเราเองที่ไม่เหมือนกับวิชาชีพอื่นใด และได้สัมผัสกับอิสรภาพทางการบริหารและวิชาการของ “สภาวิชาชีพกายภาพบำบัด”และ “คณะกายภาพบำบัด” จนเกือบลืมไปว่าประเด็นขัดแย้งนี้ ยังคงอยู่ในโครงสร้างบริหารของโรงพยาบาลรัฐเกือบทุกแห่งในประเทศไทย
เมื่อสองสามปีก่อน ยังสวมหมวกเป็นเลขาธิการสภากายภาพบำบัด มีเรื่องโครงสร้าง “งานกายภาพบำบัด” ที่กำลังจะแยกออกจาก “งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู” เข้ามาถกคุย เป็นวาระจรในการประชุมสภาอยู่สองสามครั้ง แต่ก็เป็นเพียงเรื่อง “แจ้งเพื่อทราบ” บางครั้งเกือบจะเป็นเรื่อง “แจ้งเพื่อร่วมกันยินดี” เพราะข่าวคราวความคืบหน้าของการแยกส่วนงานล้วนเป็นในทางบวก ที่เราคิดกันว่า คงจะได้หลุด ได้โล่ง และเริ่มพัฒนา “งานกายภาพบำบัด” ในโครงสร้างใหญ่ยักษ์อันอุ้ยอ้ายของระบบโรงพยาบาลรัฐให้รวดเร็ว เป็นตัวของตัวเอง และจะได้เป็นประโยชน์กับผู้รับบริการของเรามากขึ้นเสียที
เมื่อสัปดาห์ก่อน เรากำลังจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับนักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานในหน่วยปฐมภูมิ เช่น ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลชุมชน จู่ๆก็ได้ข่าวการเรียกประชุมเพื่อทบทวนโครงสร้าง “งานกายภาพบำบัด” โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์สาขาอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาล แวบแรกที่เรารู้สึกคือโกรธ และเสียดายความนับถือที่เราเคยมีให้ผู้ร่วมประชุมที่เรารู้จักอยู่หลายท่าน อยากได้เข้าร่วมอธิบาย อภิปรายในที่ประชุม รวมทั้งออกมาช่วยกันถามสาธารณชนว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับระบบบริหารทางการแพทย์ อยากให้พี่ๆน้องๆนักกายภาพบำบัดลองไถ่ถามกันดู เพื่อจะได้กระจายข่าวคราวนี้ออกไปให้ทั่ว เผื่อเราจะต้องรวมพลังทำอะไรสักอย่าง จะได้เข้าใจตรงกัน และสามารถช่วยกันอธิบายข้อมูลแก่เพื่อนร่วมงานวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นๆ ผู้ใช้บริการของเรา และสังคมได้เต็มปาก

ถามตัวเองว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากแยกหน่วยเป็น “งานกายภาพบำบัด” เรื่องแรกคือการบริการผู้ป่วย ที่ชัดเจนและคล่องตัวขึ้น สิ่งที่นักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลทั่วโลกปฏิบัติกันยกเว้นโรงพยาบาลรัฐของประเทศไทยก็คือ การรับปรึกษาจากแพทย์ทุกสาขาได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น
• ศัลยแพทย์ส่งผู้ป่วยหลังผ่าตัดปรึกษากายภาพบำบัด
• แพทย์ออร์โธปิดิกส์ส่งผู้ป่วยกระดูกกล้ามเนื้อปรึกษากายภาพบำบัด
• อายุรแพทย์ส่งผู้ป่วยทุกภาวะที่เห็นว่ามีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและสมรรถภาพกายปรึกษากายภาพบำบัด
• สูตินารีแพทย์ส่งหญิงก่อนและหลังคลอดปรึกษากายภาพบำบัด
• กุมารแพทย์ส่งผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว พัฒนาการ หรือปัญหาอื่นปรึกษากายภาพบำบัด
• แพทย์ด้านประสาทอายุรศาสตร์หรือประสาทศัลยศาสตร์ส่งผู้ป่วยระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวต่างๆปรึกษากายภาพบำบัด
• รวมทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก็สามารถส่งผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูสภาพโดยทีมฟื้นฟู ปรึกษากายภาพบำบัด

แล้วปัญหาของการมี “ส่วนงานกายภาพบำบัด” อยู่ที่ไหนหรือ

สำหรับคำถามนี้ได้ยินคำตอบแว่วๆ ที่ต้องพึมพำกับตัวเองว่า โอ้ ไม่น่าเชื่อเลย ยังคงมีคนคิดแบบนี้อยู่ ว่าหากนักกายภาพบำบัดที่สังกัดใน “งานกายภาพบำบัด” รับปรึกษาและดูแลผู้ป่วยโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงและไม่ปลอดภัยเพียงพอ หากไม่มีใครอีกสักคนที่มีปริญญาแพทย์ศาสตรบัณฑิตนั่งอยู่หน้าแผนกของเราเพื่อคัดกรองผู้ป่วยให้เรา ว่าทำกายภาพบำบัด “ได้” หรือ "ไม่ได้" บางคนนั่งอยู่หน้าแผนกของเรามานาน จนเริ่มเรียกเรียกตัวเองว่า “หมอกายภาพ”!! เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม น่าอัศจรรย์ที่ว่า ด้วยแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวน บุคลากรท่านเหล่านี้ไม่มากนัก ดังนั้นจึงมีวันที่ท่านไม่ว่างหรือติดราชการ วันนั้นผู้ป่วยก็ทำกายภาพ โดยนักกายภาพบำบัดได้อย่างปลอดภัย

(ยังมีต่อ โปรดติดตาม)
นักกายภาพบำบัด มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เราสัญญาอะไรกันไว้บ้าง


พี่ๆน้องๆ
เพราะมีเหตุจำเป็นตามภาระงานประจำ เลยต้องกลับก่อนเมื่อวันพุธ ไม่ได้อยู่ร่วมงานบายศรีและดูงานวันสุดท้าย เสียดายมากที่ไม่ได้อยู่ตลอด และอยากรู้ว่าน้องๆรู้สึกอย่างไรกันบ้างเมื่อตอนลาจากกันในการอบรม วปอ. ครั้งนี้

ระหว่างขับรถกลับมาคนเดียว มีเวลาคิดอะไรต่ออะไรหลายอย่าง นอกจากกังวลใจเรื่องการแยกส่วนงานกายภาพบำบัดจากงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ได้ทราบเรื่องจากพี่นุ้ยและเบียร์ คิดว่าไม่ว่าจะเบื่อแค่ไหน แต่เราคงต้องทนสู้กันอีกมาก กว่าจะเป็นอิสระทางวิชาชีพและการบริหาร แล้วก็คิดถึงงานในโรงพยาบาลชุมชนของพวกเราด้วย

จริงๆงานของพวกเราน่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ที่แสดงว่า นักกายภาพบำบัดเป็นส่วนสำคัญที่จะดูแลสุขภาวะของคนไทย เราทำงานได้อย่างเป็นอิสระ และร่วมมือได้กับทุกหน่วยทุกคน แต่อาจเป็นเพราะงานของเรายังไม่ชัด นึกถึงคำของหลายคนที่ถามกันว่า ตัวแบบ(model)ของนักกายภาพบำบัดในหน่วยปฐมภูมิควรเป็นอย่างไร เข้าใจว่า ทุกคนคงมีคำตอบในใจ อธิบายเป็นคำพูดได้บ้างไม่ได้บ้าง น้องหลายแห่งยังโดดเดี่ยวและมองหาจุดยืนของตัวเอง หลายคนคิดว่าพบแล้วและยืนยันจะพิสูจน์ตัวเองต่อไป สิ่งเหล่านี้คงเป็นหน้าที่ของพี่ๆทีมวิจัยที่จะไปรวบรวม สังเกต พูดคุย และนำมาสรุปเป็นภาพร่างให้พวกเราได้ดูและวิพากษ์กันอีกครั้งเร็วๆนี้

ที่ต้องทวงให้น้องๆตอบมาคือ ชื่อกลุ่มที่จะปักบนเสื้อ ยังไม่ได้ตกลงกันใช่ไหมจ๊ะ เอาเป็นว่าเสนอกันมาหลายๆคำแล้วลงคะแนนเสียงก็แล้วกันนะ บอกเร็วหน่อยในเดือนมกรานี้ จะได้ทำทัน และนำไปมอบให้ตอนอบรมครั้งหน้า
อีกเรื่องคือ หัวข้อเรื่องอบรมวิชาการที่จะจัดต่อไป ไม่เป็นหัวข้อใหญ่ๆก็ได้ บอกแนวคิดว่า อยากเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนเรื่องอะไรกันบ้าง หากหาได้จะได้จัดให้นะ
พี่น้องจะเมล์บอกทุกคนว่าจะเข้ามาตั้งกระทู้บทความในบล็อกนี้ได้อย่างไร อยากให้ตั้งเพื่อคุยกันเองด้วยจ้ะ โดยเฉพาะเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนหลายๆคน อ้อ อีกอย่างคืออยากให้น้องๆ post รูปที่ไปอบรมให้ได้ดูกันทั่วๆด้วยจ้ะ

แล้วคุยกันอีกนะจ๊ะ
พี่น้อง

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใครไปกันบ้าง


สรุปกันเสร็จแล้วนะคะ ว่าอบรมคราวนี้ 38 คนมีใครไปกันบ้าง
หากเรียงอาวุโส คงเริ่มด้วยคณะทำงาน พี่เล็ก มรส.คุณแม่ของน้องหลายคน และคุณพี่ของทุกคน พี่น้อมจิตต์ มข. พี่จุ๋ม มซ(เซ็นหลุยส์) พี่นุ้ย รพ.ขอนแก่น พี่น้อง มม.
จากภาคใต้ 7 คน อุตสาห์เดินทางไกลหลายวันหลายคืน พี่สยาม นครศรี อ.ธวัชชัย อ.วรรณนิภัทศ- ม วลัยลักษณ์ ปริน-สิชล ธารินี-ปากพูน ยะ-เทพา เบียร์-นาทวี
ภาคเหนือ 2 คน รุ่งทิวา-สันกำแพง สุหฤทัย- ดอยหล่อ
ภาคกลาง 5 คน 3 สาวจากอยุธยา ฤทัยรัตน์- ภาชี อมรรัตน์-บางปะอิน ชุลีพร- บางปะหัน วันวิสาข์ -ศูนย์ 47 สน-บางแพ ราชบุรี - ขอขึ้นรถแถวรังสิต และวังน้อยใช่ไหมคะน้องๆ
ภาคอีสาน เยอะเหมือนเดิม 9 สิงห์ สมคิด(กรี๊ด)กับอัฏฐพร-กุฉินารายณ์ ยศศักดิ์(กรี๊ด)-โกสุมพิสัย สุวิชชา-ท่าบ่อ เอกลักษณ์-ภูกระดึง กี-ณฐพร-หัวทะเล พี่อัมพรินทร์กับอัษฎางค์-ขอนแก่น อาทิตยา (กลับมาแล้ว ดีใจจัง)-อุบล
เพื่อนๆและอาจารย์ที่ไปเพิ่มจากกรุงเทพมี อ.สุทิศา อรพินท์และใครอีกคนน้าจำชื่อไม่ได้ มรส. มนต์วดี อ.สวิตา ทิชพร-มเซนต์หลุยส์ อ.อรพินท์ อ.ปิยะนุช มศว. และอ.เบญจวรรณ กับจตุพร มหิดล
ใครเพื่อนใครก็ไปเจอกันเองนะคะ คงได้เห็นตารางอบรมกันแล้ว ใครๆเห็นก็อยากไปด้วยทั้งนั้น
พี่นุ้ยฝากมาว่า ใครไม่ได้สั่งหนังสือกับพี่น้อง เพราะมีอยู่แล้ว ให้นำไปด้วย จะได้ใช้เลย
ส่วนคนที่จะซื้อเพิ่มเพิ่งมาบอกขอโทษด้วย ไม่มีเวลาไปซื้อให้จริงๆ คงต้องหลังจากการอบรม ค่อยซื้อส่งไปให้นะ
แล้วนึกไรออกจะเขียนเล่าใหม่
พี่น้อง(มัณ)จ้ะ