วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ต้องแยกงานกายภาพบำบัดออกจากกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู


งานกายภาพบำบัดต้องแยกออกจากกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟูได้แล้ว

นานปีที่เราได้ฟังเรื่องซ้ำๆซากๆเกี่ยวกับประเด็นคับข้องของงานบริหารหน่วยกายภาพบำบัด ในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ จำได้ว่าเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อยังเป็นนักศึกษาที่ศิริราช มีประเด็นนี้ถกกันในสภากาแฟที่เหล่านักศึกษากายภาพบำบัดของมหิดลจัดขึ้นหลายครั้ง มีรุ่นพี่มาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง เราก็ตื่นเต้นไปตามประสา คิดว่าเออหนอพี่ๆเราก็ต้องต่อสู้กับประเด็นอะไรต่ออะไรที่แปลกๆเหมือนกัน เพราะไม่เคยอยู่ในระบบดังว่าหรือเผชิญปัญหาด้วยตนเอง
พอมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ห่างจากเรื่องนี้ไปบ้างบางช่วง ด้วยได้ไปทำงานด้านวิชาการ เรียนรู้องค์ความรู้ของวิชาชีพกายภาพบำบัดจนถึงระดับปริญญาเอก จนมั่นใจว่าวิชาชีพกายภาพบำบัดมีองค์ความรู้ของเราเองที่ไม่เหมือนกับวิชาชีพอื่นใด และได้สัมผัสกับอิสรภาพทางการบริหารและวิชาการของ “สภาวิชาชีพกายภาพบำบัด”และ “คณะกายภาพบำบัด” จนเกือบลืมไปว่าประเด็นขัดแย้งนี้ ยังคงอยู่ในโครงสร้างบริหารของโรงพยาบาลรัฐเกือบทุกแห่งในประเทศไทย
เมื่อสองสามปีก่อน ยังสวมหมวกเป็นเลขาธิการสภากายภาพบำบัด มีเรื่องโครงสร้าง “งานกายภาพบำบัด” ที่กำลังจะแยกออกจาก “งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู” เข้ามาถกคุย เป็นวาระจรในการประชุมสภาอยู่สองสามครั้ง แต่ก็เป็นเพียงเรื่อง “แจ้งเพื่อทราบ” บางครั้งเกือบจะเป็นเรื่อง “แจ้งเพื่อร่วมกันยินดี” เพราะข่าวคราวความคืบหน้าของการแยกส่วนงานล้วนเป็นในทางบวก ที่เราคิดกันว่า คงจะได้หลุด ได้โล่ง และเริ่มพัฒนา “งานกายภาพบำบัด” ในโครงสร้างใหญ่ยักษ์อันอุ้ยอ้ายของระบบโรงพยาบาลรัฐให้รวดเร็ว เป็นตัวของตัวเอง และจะได้เป็นประโยชน์กับผู้รับบริการของเรามากขึ้นเสียที
เมื่อสัปดาห์ก่อน เรากำลังจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับนักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานในหน่วยปฐมภูมิ เช่น ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลชุมชน จู่ๆก็ได้ข่าวการเรียกประชุมเพื่อทบทวนโครงสร้าง “งานกายภาพบำบัด” โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์สาขาอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาล แวบแรกที่เรารู้สึกคือโกรธ และเสียดายความนับถือที่เราเคยมีให้ผู้ร่วมประชุมที่เรารู้จักอยู่หลายท่าน อยากได้เข้าร่วมอธิบาย อภิปรายในที่ประชุม รวมทั้งออกมาช่วยกันถามสาธารณชนว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับระบบบริหารทางการแพทย์ อยากให้พี่ๆน้องๆนักกายภาพบำบัดลองไถ่ถามกันดู เพื่อจะได้กระจายข่าวคราวนี้ออกไปให้ทั่ว เผื่อเราจะต้องรวมพลังทำอะไรสักอย่าง จะได้เข้าใจตรงกัน และสามารถช่วยกันอธิบายข้อมูลแก่เพื่อนร่วมงานวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นๆ ผู้ใช้บริการของเรา และสังคมได้เต็มปาก

ถามตัวเองว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากแยกหน่วยเป็น “งานกายภาพบำบัด” เรื่องแรกคือการบริการผู้ป่วย ที่ชัดเจนและคล่องตัวขึ้น สิ่งที่นักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลทั่วโลกปฏิบัติกันยกเว้นโรงพยาบาลรัฐของประเทศไทยก็คือ การรับปรึกษาจากแพทย์ทุกสาขาได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น
• ศัลยแพทย์ส่งผู้ป่วยหลังผ่าตัดปรึกษากายภาพบำบัด
• แพทย์ออร์โธปิดิกส์ส่งผู้ป่วยกระดูกกล้ามเนื้อปรึกษากายภาพบำบัด
• อายุรแพทย์ส่งผู้ป่วยทุกภาวะที่เห็นว่ามีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและสมรรถภาพกายปรึกษากายภาพบำบัด
• สูตินารีแพทย์ส่งหญิงก่อนและหลังคลอดปรึกษากายภาพบำบัด
• กุมารแพทย์ส่งผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว พัฒนาการ หรือปัญหาอื่นปรึกษากายภาพบำบัด
• แพทย์ด้านประสาทอายุรศาสตร์หรือประสาทศัลยศาสตร์ส่งผู้ป่วยระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวต่างๆปรึกษากายภาพบำบัด
• รวมทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก็สามารถส่งผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูสภาพโดยทีมฟื้นฟู ปรึกษากายภาพบำบัด

แล้วปัญหาของการมี “ส่วนงานกายภาพบำบัด” อยู่ที่ไหนหรือ

สำหรับคำถามนี้ได้ยินคำตอบแว่วๆ ที่ต้องพึมพำกับตัวเองว่า โอ้ ไม่น่าเชื่อเลย ยังคงมีคนคิดแบบนี้อยู่ ว่าหากนักกายภาพบำบัดที่สังกัดใน “งานกายภาพบำบัด” รับปรึกษาและดูแลผู้ป่วยโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงและไม่ปลอดภัยเพียงพอ หากไม่มีใครอีกสักคนที่มีปริญญาแพทย์ศาสตรบัณฑิตนั่งอยู่หน้าแผนกของเราเพื่อคัดกรองผู้ป่วยให้เรา ว่าทำกายภาพบำบัด “ได้” หรือ "ไม่ได้" บางคนนั่งอยู่หน้าแผนกของเรามานาน จนเริ่มเรียกเรียกตัวเองว่า “หมอกายภาพ”!! เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม น่าอัศจรรย์ที่ว่า ด้วยแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวน บุคลากรท่านเหล่านี้ไม่มากนัก ดังนั้นจึงมีวันที่ท่านไม่ว่างหรือติดราชการ วันนั้นผู้ป่วยก็ทำกายภาพ โดยนักกายภาพบำบัดได้อย่างปลอดภัย

(ยังมีต่อ โปรดติดตาม)
นักกายภาพบำบัด มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 ธันวาคม 2555 เวลา 09:34

    สนับสนุนและอยากให้แยกมากๆ ค่ะ ตอนนี้อึดอัดที่ต้องทำตาม order แพทย์ทุกอย่าง ทั้งๆที่เราก็เรียนมาอย่างหนัก วินิจฉัยและให้การรักษาด้วยความปลอดภัย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ20 ธันวาคม 2555 เวลา 09:36

    อยากให้แยกในทุกโรงพยาบาลเลยน่ะค่ะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ3 ตุลาคม 2557 เวลา 04:46

    เห็นด้วยค่ะ ควรแยกออกเพื่อความเจริญก้าวหน้า นักกายภาพบำบัดมีศักยภาพค่ะ

    ตอบลบ